กล้องวงจรปิดในบ้าน (HOME CCTV)

กล้องวงจรปิดในบ้าน (CCTV: Close Circuit Television) มีประโยชน์ในการบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งในเวลาที่เจ้าของบ้านอยู่ หรือ เวลาออกไปทำธุระนอกบ้าน เป็นอุปกรณ์สำคัญไปแล้วในปัจจุบัน ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของการอยู่อาศัยที่เจ้าของบ้านไม่ได้อยู่บ้านทั้งวัน หรือครอบครัวที่มีขนาดเล็กลงไม่มีใครอยู่เฝ้าบ้าน หรือ แม้แต่การใช้เพื่อเฝ้าดูผู้สูงอายุจากระยะไกล ซึ่งมีเพื่อนของแอดมินบางคนติดตั้งกล้องวงจรปิดด้วยเหตุผลนี้คือ ต้องการดูหรือคุยผ่านกล้อง (Video Call) กับ พ่อ-แม่ ที่อยู่บ้านต่างจังหวัดได้บ่อยๆ

กล้องวงจรปิดมีหลายประเภท สำหรับที่นิยมใช้กันมากคือ แบบกล้อง 4 ตัวและอุปกรณ์บันทึกผ่านสายสัญญานเฉพาะที่ลากจากจุดติดตั้งกล้องมายังกล่องบันทึก (NVR: Network Video Recorder) แบบนี้จะมีราคารวมค่าติดตั้งราว ๆ หนึ่งหมื่นบาทขึ้นไป ราคาจะต่างกันตามคุณภาพของกล้อง (ความละเอียด ความทนทาน) และ ค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง แบบนี้จะมีจุดเด่นในด้าน “ความเสถียร” ของระบบ สามารถดูเหตุการณ์ย้อนหลังได้เป็นเดือนจากข้อมูลที่บันทึกในฮาร์ดดิสถ์ที่ติดตั้งในกล่องบันทึก แต่จะมีจุดอ่อนเรื่องความยืดหยุ่นในการใช้งาน เช่น การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งติดตั้ง เป็นต้น ซึ่งก็มีผลิตภัณฑ์เข้ามาแก้ไขจุดอ่อนนี้คือกล้อง Wi-Fi Camera ระบบลักษณะนี้จะมีกล้องที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เน็ตแบบไร้สาย (Wi-Fi) ที่มีจุดเด่นเรื่องการติดตั้งง่าย ขอเพียงมีจุดต่อปลั๊กไฟฟ้า และสัญญานเครือข่ายไร้สาย (Wi-Fi) ก็ใช้งานได้แต่จะมีจุดอ่อนด้านการแสดงผลตามเวลาจริงที่หน้าจอ (Real-time Monitoring) ที่จะไม่เนียนสมูทเหมือนแบบแรกแต่ข้อมูลที่ได้จากการบันทึกจะเหมือนกันทุกประการ ในกล้องบางรุ่นจะเพิ่มการใส่การ์ดหน่วยความจำที่หัวกล้องได้ด้วย เพื่อให้สามารถดึงข้อมูลออกมาได้กรณีกล่อง NVR เกิดความเสียหายหรือสูญหายไป

แบบที่ติดตั้งง่าย ทำได้เอง คือ กล้องติดตั้งภายใน (In-door Camera) มีทั้งแบบกล้องโรบอท (Robot) ที่สามารถหมุนเปลียนมุมมองได้เกือบ 360 องศา หรือ กล้องตาปลา (Fish Eyes) ที่ให้มุมมองที่กว้างคล้ายกับการดูจากกล้องเลนส์ไวด์ ทั้งสองแบบมีลักษณะเป็นกล้องติดตั้งภายในบ้าน เชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไรสาย (Wi-Fi) ในบ้าน เพียงดาวน์โหลดโปรแกรมจากอินเตอร์เน็ตและติดตั้งโปรแกรมในโทรศัพท์มือถือ ก็ใช้งานได้เลย ดูเหตุการณ์ต่างๆ ได้จากระยะไกล เช่น เมื่ออยู่นอกบ้าน เดินทางไปต่างประเทศ ผ่านสัญญานอินเตอร์เน็ต อีกทั้งยังสามารถดูเหตุการณ์ย้อนหลังได้ในช่วงเวลานึง เช่น 24 ชั่วโมง หรือ 1 สัปดาห์ โดยจะขึ้นอยู่กับขนาดของการ์ดหน่วยความจำที่เพิ่มในตัวกล้อง มีจุดเด่นด้านความง่ายในการติดตั้ง และ ใช้งาน และ ความยืดหยุ่นในการวาง คือสามารถนำไปติดตั้งที่ใดในบ้านก็ได้ที่มีปลั็กไฟ และสัญญาน Wi-Fi ครอบคลุมไปถึงจุดที่ติดตั้งกล้อง ที่สำคัญคือ มีราคาที่ไม่แพง

แบบที่ซับซ้อนขึนมาอีกนิดคือ เป็นอุปกรณ์ในกลุ่มสมาร์ทโฮม (Smart Home) ที่เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมระบบต่าง ๆ ในบ้านให้เป็นระบบอัตโนมัติ เช่น แสงสว่าง สัญญานกันขโมย ฯลฯ โดยจะเป็นทั้งกล้องติดตั้งภายใน และ ภายนอก แบบนี้จะมีลักษณะคล้ายกับกล้องติดตั้งภายในที่กล่าวข้างต้น แต่จะมีจุดเด่นในเรื่องการทำงานที่เชื่อมกับอุปกรณ์อื่นๆ ในระบบสมาร์ทโฮม เช่น เมื่อมีการตรวจจับพบการเคลื่อนไหวก็ส่งสัญญานไปยังอุปกรณ์อื่นให้ทำงานเช่น การเปิดไฟ หรือ ส่งเสียงเตือน เป็นต้น โดยมีข้อสังเกตุคือต้องใช้ร่วมกับอุปกรณ์ในระบบสมาร์มโฮม เพื่อให้ได้ฟังก์ชันตามที่กล่าวมาข้างต้น

หากถามว่า “จะเริ่มต้นอย่างไร ?” แอดมินแนะนำให้ดูจากความต้องการและงบประมาณเป็นหลัก หากต้องการเพียงการดูบางจุดในบ้านแนะนำให้ใช้กล้องติดตั้งภายใน เริ่มต้นตัวเดียวก่อน แอดมินมีเพื่อนที่มีประสบการณ์ติดตั้งกล้องภายในเพียงตัวเดียว แล้วมีผู้บุรุกเข้ามาในบ้านช่วงออกไปทำงาน ก็สามารถนำวิดิโอที่บันทึกในเมโมรีการ์ดมาเป็นหลักฐานได้ แต่หากมีความซีเรียสในเรื่องการเก็บหลักฐาน เช่น บ้านที่มีผู้เข้า-ออกหลากหลาย บ้านที่อยู่ห่างไกลจากชุมชน หรือ บ้านที่ทำเป็นสำนักงานด้วย ฯลฯ ก็ให้พิจารณากล้องชุด 4 ตัวที่มีกล่องบันทึกจะเหมาะกับการใช้งาน ส่วนหากต้องการความเป็นอัตโนมัติในบ้าน แนะนำให้เลือกกล้องในกลุ่มสมาร์ทโฮมที่สามารถต่อขายและปรับเปลี่ยนตามพฤติกรรมและไลฟสไตล์ของการอยู่อาศัยได้ ซึ่งขอให่นึกเสมอว่า “ไม่มีอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีใดที่ดีที่สุด แต่จะมีอุปกรณ์ที่เหมาะกับความต้องการของเราที่สุด” แน่นอนครับ





Solar Light ลองใช้ไฟฟรีแบบง่ายๆ

โซลาร์เซลล์( Solar Cell) ที่เรียกกันติดปาก เวลาคุยถึงระบบการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ โซล่าเพาเวอร์ (Solar Power) เพื่อให้พลังงานไฟฟ้าสำหรับบ้านพักอาศัย กำลังเป็นที่สนใจอย่างกว้างขวางแรงจูงใจจาก “ใช้ไฟฟรี” เช่น “เปิดแอร์โดยไม่ต้องจ่ายค่าไฟแพง” แต่ยังมีคำถามมากมายเกี่ยวกับการติดตั้ง ค่าใช้จ่าย การบำรุงรักษา ฯลฯ บทความนี้เป็นโซลูชั่นเริ่มต้น (Starter) จะแนะนำการประยกต์ใช้ Solar Light เพื่อให้แสงสว่างในบ้านในช่วงกลางคืน ถือเป็นโซลูชั่นที่ Quick Win ในการประยุกต์ใช้ระบบ Solar Power ในบ้านครับ

Solar Light (โซลาร์ไลท์) จะมาแทนโคมไฟแสงสว่างที่ให้แสงช่วงกลางคืนของบ้านพักอาศัย มีระบบช่วยการเปิด-ปิดไฟอัตโนมัติ จะเปิดเพื่อให้แสงสว่าง ตอนกลางคืน เช่น เมื่อยังกลับมาไม่ถึงบ้าน หรือ เมื่อเวลาไม่อยู่บ้านหลายวัน และจะปิดให้อัตโนมัตเมื่อมีแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ในเวลากลางวัน

ในอดีตการทำระบบไฟแสงสว่างอัตโนมัติแบบนี้ต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์ที่ต้องการช่างมีอาชีพมาติดตั้งเซนเซอร์จับแสงจากดวงอาทิตย์เพื่อเปิด-ปิดไฟแสงสว่างเวลาไม่อยู่บ้านเพื่อไม่ให้บ้านไม่ดูมืดเกินไปเป็นเป้าสายตาที่เปลี่ยนความหมายจาก “เจ้าของบ้านไม่อยู่นาน…” กลายเป็น “บ้านนี้มีการดูแลนะ”

Solar Light ทำให้การดูแลบ้านในเรื่องของแสงสว่าง ช่วงค่ำคืน เป็นเรื่องง่าย จากการติดตั้งเพียงครั้งเดียว อีกทั้ง Solar Light ยังมีอายุการใช้งานนาน เกิน 3 ปี ทนแดด ทนฝน ด้วยมาตรฐาน IP66 กันฝุ่น กันน้ำ ทั้งอุปกรณ์ และ สายไฟ ซื้อมาใช้ติดตั้งแล้วไม่ต้องการดูแลรักษา (ปล่อยได้เลย)

Solar Light มีส่วนประกอบของอุปกรณ์หลักๆ เพียง 3 อย่าง คือ โคมไฟ,สายไฟ และ แผงรับแสงอาทิตย์
ส่วน Remote ที่ใช้สำหรับควบคุมจะใช้ไม่บ่อยนัก ถ้าติดตั้งให้ทำงานเปิด-ปิด อัตโนมัติตามแสงอาทิตย์ก็หลังจากติดตั้งแล้วก็เก็บ Remote ได้เลย (ไม่ได้ใช้)

การติดตั้งสามารถทำได้เอง ง่าย ๆ ด้วยการนำโคมไฟไปวาง หรือ ยึดกับจุดที่ต้องการให้แสงสว่าง เช่น ริมรั้ว ใต้หลังคากันสาด ทางเดินในสวน ฯลฯ ส่วนแผงรับก็วางในจุดที่มีแสงอาทิตย์ส่องถึงได้มากที่สุดในแต่ละวันการยึดโคมไฟอาจใช้ Cable Tie (ชั่วคราว) หรือ การยึดกับน๊อตที่เจาะลงไปในผนังด้วยพุก) เมื่อกำหนดจุดติดตั้งที่แน่นอนได้แล้ว

ข้อควรระวังในการติดตั้ง คือ การให้แสงส่งไปในทิศทางที่ต้องการให้แสงสว่างภายในบ้าน ไม่ส่องไปในพื้นที่ของเพื่อนบ้าน หรือ ส่องตา ที่อาจจะสร้างความรำคาญให้กับเพื่อนบ้าน เนืองจากรูปแบบของ Solar Light จะเป็นไฟ Spot Light ที่แยงตาหากไม่ส่องลงพื้น การติดตั้งพิจารณาในเรื่องความเกรงใจต่อเพื่อนบ้านด้วย ถ้าเป็นบ้านสวนที่ห่างจากบ้านของเพื่อนบ้านมากๆ คงไม่ห่วงประเด็นเหล่านี้มากนัก

ส่วนในด้านข้อเสียก็เห็นจะเป็นเรื่องของการติดตั้งแผงรับแสงอาทิตย์ที่บางครั้งอยู่ในจุดที่ไม่สามารถรับแสงอาทิตย์ได้ตลอดวันก็อาจจะทำให้ Solar Light ให้แสงสว่างไม่ยาวนานตลอดทั้งคืน กรณีนี้จะต่างกับระบบบบ Solar Power เต็มระบบอย่างชัดเจน เพราะการติดตั้ง Solar Power แบบเต็มรูปแบบจะติดตั้งแผง Solar Cell บนหลังคาบ้าน หรือ ตำแหน่งที่แผง Solar Cell รับแสงอาทิตย์ได้ที่ดีที่สุด แล้ว ลากสายไฟไปยังจุดต่าง ๆที่จำเป็นต้องใช้อีกที

การเลือกซื้อมักจะมีคำถามว่า “จะเลือกขนาดกี่วัตต์ดี ?” ขอแนะนำให้ลองซื้อขนาดและราคาที่พอจ่ายได้เช่น 300-500 บาท มาใช้ดูก่อนเช่น Solar Light ที่จำหน่ายในท้องตลาดมีตั้งแต่การให้แสงสว่างที่ 10W – 300W การให้แสงสว่างมากน้อยตามความต้องการที่แท้จริง ขึ้นกับขนาดสถานที่และ การติดตั้ง นี่ยังไม่รวมปัจจัยเกี่ยวกับคุณภาพของตัวสินค้า (อาจจะให้แสงสว่างไม่ตรงกับสเปคข้างกล่อง) จำเป็นต้องเลือก เปรียบเทียบ และสำคัญที่สุดคือลองใช้จะทำให้เข้าใจมากขึ้นครับ

อ่านมาถึงตรงนี้หวังว่าจะได้ข้อมูลและไอเดียการใช้ Solar Power จากในการประยุกต์ใช้ Solar Light ในบ้านกันแล้วแอดมินหวังว่าผู้อ่านจะนำไปลอง และสนุกกับการดูแล ปรับปรุงบ้านที่รักได้จากบทความนี้ไม่มากก็น้อยครับ